19th Ave New York, NY 95822, USA
glutenfree

อาหารปลอดกลูเตน’ (Gluten Free) ดีต่อสุขภาพ?

หากคุณเป็นคนที่อ่านฉลากสินค้าก่อนซื้อมาบริโภค จะต้องเคยเห็นสัญลักษณ์หรือข้อความที่ระบุว่า กลูเตนฟรี (Gluten Free) หลายคนอาจรู้จักเป็นอย่างดี เพราะกำลังเป็นเทรนด์ฮิตในกลุ่มผู้รักสุขภาพที่นิยมซื้อหามาทานกัน

แต่ก็มีไม่น้อยที่เกิดคำถามในใจว่า กลูเตนฟรี (Gluten Free) คืออะไร? และอาหารกลูเตนฟรีดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่? วันนี้เรามาทำความรู้จักกับอาหารกลูเตนฟรีและหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

อาหารกลูเตนฟรี (Gluten Free) คืออะไร?

อาหารกลูเตนฟรี คือ อาหารที่ปราศจากกลูเตน ทั้งด้านส่วนประกอบและการปนเปื้อนในขั้นตอนการผลิต  โดยกลูเตนเป็นชื่อของโปรตีนชนิดหนึ่ง พบมากในกลุ่มธัญพืชประเภทข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์ นอกจากจะพบในธัญพืชดิบแล้ว กลูเตนยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมเบเกอรี่อย่างแพร่หลาย โดยเป็นส่วนผสมที่ช่วยทำให้ขนมปัง ขนมอบต่างๆ เหนียวนุ่ม คงตัว น่ารับประทานและอร่อย เพราะกลูเตนมีคุณสมบัติเด่นในการทำให้อาหารมีความยืดหยุ่นนั่นเอง

นอกจากนี้ เรายังพบกลูเตนในการเป็นส่วนประกอบของอาหารอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ในอาหารเจและอาหารมังสวิรัติ ในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้ง ข้าวสาลี ไอศกรีม ปลากระป๋อง กะทิสำเร็จรูป น้ำมันหอย ซอสถั่วเหลือง รวมถึงยังพบได้ในเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก ทอดมัน ฯลฯ เป็นต้น

Gluten Free ดีสำหรับทุกคนหรือไม่ ?

อันดับแรก ต้องแยกจุดประสงค์ในการรับประทาน Gluten Free สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นทางสุขภาพและคนปกติก่อน เพราะอาหารประเภท Gluten Free เปรียบเสมือนวิธีการรักษาอาการแพ้กลูเตนแบบหนึ่ง และจำเป็นสำหรับผู้ที่แพ้กลูเตนหรือเป็นโรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องจากกลูเตน แต่คนทั่วไปอาจใช้เป็นทางเลือกในการรับประทานอาหารเท่านั้น ดังนั้น การรับประทานอาหารประเภท Gluten Free จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติด้านสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป เพราะกลูเตนปริมาณน้อยนิดอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเซลิแอคที่เป็นโรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งหากได้รับกลูเตนเพียง 50 มิลลิกรัมก็สามารถทำลายเยื่อบุลำไส้เล็กได้ ส่งผลให้ดูดซึมสารอาหารน้อยลงและนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคกระดูกพรุน ภาวะมีลูกยาก เส้นประสาทได้รับความเสียหาย เกิดอาการชัก เป็นต้น ส่วนคนที่มีอาการแพ้กลูเตนหรือภาวะไวต่อกลูเตนมักมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยโรคเซลิแอค แต่ส่วนใหญ่เป็นอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และไม่ได้ทำลายเยื่อบุลำไส้

อาหารไร้กลูเตน

• กลุ่มข้าง แป้ง เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวโพด ถั่วเหลือง มัน เผือก ฟักทอง วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ

• กลุ่มเนื้อสัตว์ ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น ไข่ สันในหมู อกไก่ ปลา และหลีกเลี่ยงการปรุงรสจากซอสที่มีส่วนผสมของแป้งสาลี

• กลุ่มน้ำมัน ได้แก่ ถั่ว เนย และใช้น้ำมันพืชปรุงอาหารได้ทุกชนิด

• กลุ่มผักผลไม้ กินได้ทุกชนิด แต่ควรระวังขั้นตอนการปรุงไม่ให้มีส่วนผสมของแป้งสาลี

• กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์จากนม นมดื่มได้ถ้าไม่แพ้น้ำตาลแลคโตส สำหรับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต้องอ่านส่วนผสมจากฉลากโภชนาการ เช่น โยเกิร์ต


แล้วทำไมต้อง กลูเตนฟรี?
เพราะกลูเตนมีผลกระทบต่อระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ซึ่งบางคนอาจมีภาวะแพ้ต่อโปรตีนกลูเตนชนิดนี้ สังเกตได้จากผู้ที่แพ้หรือร่างกายไม่ย่อยกลูเตน จะรู้สึกไม่สบายท้อง ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด ท้องเสีย การขับถ่ายผิดปกติ ทุกครั้ง
หลังกินอาหารที่มีกลูเตน โดยจะมีผลทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อระบบย่อยและการดูดซึมอาหารในลำไส้เล็ก ทำให้เยื่อบุลำไส้อักเสบหรือถูกทำลาย จนอาจเกิดภาวะขาดสารอาหารในที่สุด ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องบริโภคอาหารกลูเตนฟรี เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีนั่นเอง
 
 
 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
อาหารปลอดกลูเตน (Gluten free diet)
Gluten Free คือ อะไร ดีต่อสุขภาพจริงหรือ ?

Related Posts

Leave a comment